You are currently viewing ไขข้อข้องใจ อาหารกับ COVID-19

ไขข้อข้องใจ อาหารกับ COVID-19

COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นจาก coronavirus ที่เพิ่งมีการค้นพบใหม่ โดยขณะนี้มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง COVID-19 และอาหาร ทางสาขามนุษยนิเวศศาสตร์แขนงอาหารและโภชนาการจึงจัดทำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน

1. “อาหารกินต้านโควิด” มีจริงไหม?

      ขณะนี้ “ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้” ว่าอาหารหรือรูปแบบการบริโภคใดๆ สามารถ ‘เพิ่ม’ ระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันหรือรักษา COVID-19 ได้ แต่มีสารอาหารหลายอย่าง เช่น ทองแดง โฟเลต เหล็ก ซีลีเนียม สังกะสี และวิตามินA วิตามินB6 วิตามินB12 วิตามินC และ วิตามินD ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ จึงได้มีการแนะนำให้รับประทานอาหารที่สมดุล อุดมไปด้วยผักและผลไม้ เพื่อที่จะให้ร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้อย่างครบถ้วน รวมถึงควรออกกำลังกาย ลดความเครียด และนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย

2. “อาหารเสริม” ช่วยป้องกันโควิดได้ไหม?

      ขณะนี้ “ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ที่รับรองได้ว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ที่สามารถ ‘เพิ่ม’ ระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ นอกจากนั้น ก่อนเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรตรวจสอบถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยก่อนเสมอ เช่นหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีประโยชน์ต่อร่างกายในกรณีที่เกิดภาวะขาดสารอาหารบางชนิด ร่างกายต้องการเพิ่มเติม หรือไม่สามารถรับได้อย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารปกติเท่านั้น และการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

3. โควิด ติดผ่านอาหารทั่วไปได้รึเปล่า?

       แม้จะมีข่าวลือว่าต้นตอของเชื้อไวรัสมาจากเมนูอาหารเปิบพิศดาร แต่หน่วยงานทางด้านความปลอดภัยอาหารของยุโรประบุว่าขณะนี้ “ยังไม่มีหลักฐาน” ที่แสดงว่าเชื้อ COVID-19 สามารถติดต่อผ่านอาหารทั่วไปที่รับประทานในชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากอาหาร โดยปฏิบัติดังนี้:

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที ก่อนและหลังการเตรียมหรือรับประทานอาหาร
  • ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และล้างมือให้สะอาดทันที
  • ล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทานเสมอ
  • ฆ่าเชื้อบนพื้นผิวและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารทั้งก่อนและหลังการใช้งาน
  • แยกอาหารดิบ และอาหารปรุงสุกออกจากกัน เพื่อหลีกเลี่ยงจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายจากอาหารดิบแพร่กระจายไปยังอาหารพร้อมรับประทาน
  • แยกเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เขียงสำหรับอาหารดิบ และอาหารปรุงสุกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม
  • ปรุงอาหารให้สุก และอุ่นอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม (มากกว่า 72° C เป็นเวลา 2 นาที)

4. โควิด ติดผ่านบรรจุภัณฑ์อาหารได้หรือไม่?

 “มีความเป็นไปได้” ที่ COVID-19 จะติดต่อจากการสัมผัสบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะหากบรรจุภัณฑ์นั้นสัมผัสกับละอองฝอยจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ ไวรัสจะสามารถมีชีวิตอยู่บนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษแข็งได้เป็นเวลาหนึ่งวัน และบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้เป็นเวลาหลายวัน จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ หากไปสัมผัสพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์นั้นต่อ แล้วนำมือมาสัมผัสปาก จมูก หรือดวงตา โดยที่ไม่ได้ล้างมือ แต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 จากการสัมผัสบรรจุภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อนนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อในรูปแบบนี้

สำหรับในร้านค้าต่างๆ บริเวณเครื่องชั่งน้ำหนัก ตระกร้าใส่สินค้า หรือแม้กระทั่งปุ่มกดลิฟท์ ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อไวรัสมากที่สุด แม้ว่าร้านค้าหลายแห่งจะมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อฆ่าเชื้อบนพื้นผิวเหล่านี้ แต่ผู้บริโภคก็ควรล้างมือทันทีหลังจากกลับมาจากร้านค้า โดยมีข้อปฏิบัติที่แนะนำเกี่ยวกับการซื้อของในร้านค้าดังนี้:

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นเวลา 20 วินาที ก่อนและหลังการซื้อของที่ร้านค้า ร้านอาหาร และภายหลังรับสินค้าจากพนักงานส่งของ
  • รักษาระยะห่างที่ปลอดภัย (อย่างน้อย 1 – 2 เมตร) จากคนอื่นในระหว่างเลือกซื้อสินค้า
  • อย่าออกไปซื้อของหากมีอาการป่วย โดยให้เปลี่ยนเป็นสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือให้ครอบครัวและเพื่อนซื้อให้แทน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหาร บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการซื้อกลับบ้าน
  • ออกไปจากบ้านไปซื้อของให้น้อยครั้งที่สุด โดยควรจดรายการสินค้าเตรียมไว้ล่วงหน้า และชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสแหล่งของเชื้อ
  • ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามในที่สาธารณะ และล้างมือให้สะอาดทันที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก และปาก ระหว่างอยู่ในร้านค้าหรือพื้นที่สาธารณะ

5. โควิด ติดจากน้ำดื่มได้ไหม?

       “เป็นไปได้น้อยมาก” โดยไวรัสจะยังคงสามารถมีชีวิตในน้ำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ และการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นถือว่าปลอดภัยจากไวรัส COVID-19 เนื่องจากผ่านกระบวนการควบคุมและฆ่าเชื้อซึ่งจะทำให้ไวรัสหยุดทำงาน แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่รู้แหล่งที่มา และไม่ใช้แก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอดดูดร่วมกับผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานและข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ สามารถต้านและป้องกันเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากการค้นพบเชื้อ COVID-19 ยังเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไม่มีเวลามากพอที่จะรวบรวมหลักฐานและทำการวิจัยดังกล่าวได้ ดังนั้นในมุมของผู้บริโภค จึงควรไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารป้องกันโรค COVID-19  และไม่ควรส่งต่อข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือ เพื่อป้องกันการส่งต่อข้อมูลเท็จ ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นได้ในภายหลัง  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.eufic.org/en/food-safety/article/food-and-coronavirus-covid-19-what-you-need-to-know