หลักการและเหตุผล
สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ได้มีการเปิดการเรียนการสอนในวิชาเอกพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว และวิชาเอกอาหาร โภชนาการ และการประยุกต์ในระบบทางไกล
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรในสาขาวิชาฯ ทั้งสายวิชาการ และสายสนับสนุนในการบริหารงานด้านอาหาร โภชนาการ และการพัฒนาครอบครัวและสังคม ในการศึกษาดูงาน ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และวิทยาลัยมหาดไทย ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับระบบบริหาร การพัฒนาสังคม การสาธารณสุขควบคุมดูแลเรื่องสุขอนามัยร้านอาหาร ระบบความปลอดภัยชุมชน การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และการบริหารจัดการหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการสร้างภาคีเครือข่ายในการพัฒนาการเรียนการสอนและการบริหารงานของสาขาวิชาฯ ในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้คณาจารย์และบุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับระบบบริหาร การพัฒนาสังคม การสาธารณสุขควบคุมดูแลเรื่องสุขอนามัยร้านอาหาร ระบบความปลอดภัยชุมชน และการยกระดับพัฒนา คุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
- เพื่อให้คณาจารย์และบุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการหน่วยงาน
- เพื่อเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยา วิทยาลัยมหาดไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การศึกษาดูงาน ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา และนางสาวพรรณี ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม ได้บรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในเขตเมืองพัทยา โดยมีเนื้อหาดังนี้
สำนักสวัสดิการสังคม เมืองพัทยา มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในการดำรงชีวิต การส่งเสริมคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของบุคคล พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมการมี ส่วนร่วมของภาคประชาคม การส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์วิจัยปัญหาและแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาสังคม และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
โครงสร้างการบริหารของสำนักสวัสดิการสังคม
1. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
ควบคุมตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับงานสารบรรณ การขออนุมัติจัดซื้อ-จัดจ้าง ระบบ e-LASS และจัดทำฎีกาเบิกเงิน การจัดทำทะเบียน ทรัพย์สินในระบบ e-LASS รายงานการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ สำนักสวัสดิการสังคม ดูแลและอำนวยความสะดวก ประสานงานหน่วยงานต่างๆ และควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ของหน่วยงาน
2. ฝ่ายสังคมสงเคราะห์
2.1 โครงการสงเคราะห์อุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการและผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย โดยการจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการและผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย เช่น ที่หัดเดินสี่ขา ไม้เท้าสามขา ไม้เท้าขาเดียว ไม้เท้าค้ำยัน ให้กับผู้สูงอายุหรือคนพิการในเขตเมืองพัทยาที่มีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์
2.2 โครงการสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัว ดำเนินกิจกรรมให้ความรู้ผ่านการบรรยาย และกระบวนการฝึกอบรมด้วยกิจกรรม Walk Rally เพื่อให้ครอบครัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทำภารกิจร่วมกันในฐานกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุตามภารกิจที่ได้ตั้งไว้ รวมถึงการเข้ากลุ่มในการปรับทัศนคติตามบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อเพิ่มความเข้าใจในความคิด ทัศนคติซึ่งกันและกัน
2.3 โครงการช่วยเหลือประชาชนด้านส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนผู้ประสบปัญหาทางสังคมในเขตเมืองพัทยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดำรงชีวิตผู้ประสบปัญหาทางสังคมในด้านต่างๆ ผู้ประสบภาวะยากลำบากในการดำรงชีพ ให้ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2.4 โครงการช่วยเหลือบุคคลไร้ที่พึ่งเขตเมืองพัทยา ดำเนินการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้ที่พึ่งและขอทานเดือนละ 2 ครั้ง จัดตั้ง “จุดประสานงานคนไร้บ้าน” ร่วมกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดชลบุรี
2.5 การให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในพื้นที่เมืองพัทยา มีการรับมอบอุปกรณ์ เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็นวีลแชร์ ที่บุคคลผู้มีความประสงค์บริจาคให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ยากจน ได้หมุนเวียนใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
3. ฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม
3.1 โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
– จัดการอบรม หัวข้อ “ทักษะเบื้องต้นในการดูแลคนพิการ” เพื่อให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลคนพิการ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขเมืองพัทยา ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการดูแลและช่วยเหลือคนพิการเบื้องต้น และยังเป็นการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ ตระหนักรู้เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ศักยภาพและการดำรงชีวิตอิสระ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดียิ่งขึ้น
– จัดการอบรมหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุและการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ” เพื่อให้ผู้สูงอายุในเขตเมืองพัทยาได้รับพัฒนาการด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต อารมณ์ สังคม ที่เหมาะสมและได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เช่น การลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การจัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุในระดับชุมชน การประชุมเครือข่าย การอบรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ การเสริมพลังอำนาจให้ผู้สูงอายุ กีฬาและสันทนาการ การฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ
3.2 โครงการจัดประชุมคณะกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อรายงานและติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับคนพิการของแต่ละหน่วยงาน ให้คำปรึกษา ข้อคิดเห็น ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาและแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานด้านคนพิการ
4. ฝ่ายพัฒนาชุมชน
4.1 โครงการประชาคมและจัดทำแผนชุมชน เพื่อให้เมืองพัทยา ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตเมืองพัทยาได้มาประชุม เสนอปัญหาและความต้องการ ร่วมคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
4.2 โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มพัฒนาสตรี เมืองพัทยา เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยเคารพและมีเจตคติที่เคารพเท่าเทียมทางเพศ ลดอคติทางเพศ และยอมรับในศักยภาพของผู้หญิงเพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะการทำงานต่างๆ ให้กับสมาชิก
4.3 โครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานแก่คณะกรรมการชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีคณะกรรมการชุมชนที่มีความรู้ความสามารถ ความรู้ พร้อมรับมือกับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง
4.4 โครงการสรรหาผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่น เพื่อยกย่องเชิดชู และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่นต่อส่วนรวมเพื่อให้ประชาชนในเขตเมืองพัทยาได้เห็นถึงความสำคัญของการเสียสละเพื่อทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
5. ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
5.1 โครงการอบรมอาชีพแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตเมืองพัทยาให้มีอาชีพ มีรายได้สำหรับการดำรงชีพและสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมทั้งเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้หรือการประกอบอาชีพ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีการจัดอบรมจำนวน 5 ประเภทอาชีพ ได้แก่
1) ประเภทสุขภาพ ได้แก่ หลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ หลักสูตรนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ
2) ประเภทอาหาร ได้แก่ หลักสูตรการทำกิมจิและอาหารเกาหลี ธุรกิจอาหารกล่องเดลิเวอรี่
3) ประเภทความสวยความงาม ได้แก่ หลักสูตรเพ้นท์เล็บและแต่งเล็บ
4) ประเภทงานประดิษฐ์ ได้แก่ หลักสูตรงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
5) ประเภทเกษตร ได้แก่ หลักสูตรการเพาะเลี้ยงปูนา หอยเชอรี่ หลักสูตรการเพาะเลี้ยงไม้ด่าง
5.2 โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำปี 2565 Part – time center “คนพัทยาได้งาน ผู้ประกอบการได้คน” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ เป็นการบูรณาการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพ และเสริมสร้างให้ประชาชนพึ่งตนเอง
การศึกษาดูงาน ณ วิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ วิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และเจ้าหน้าที่วิทยาลัยมหาดไทย ได้บรรยายเกี่ยวกับระบบบริหารและการดำเนินงานของวิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้
ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยมหาดไทยขึ้นเพื่อเป็นวิทยาลัยในการพัฒนาข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย โดยใช้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) บริเวณท่าน้ำนนทบุรีเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยมหาดไทย ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีอาคารดังกล่าว เป็นโบราณสถาน ทําให้วิทยาลัยมหาดไทยต้องย้ายสถานที่ไปยังสถานที่แห่งใหม่
วิทยาลัยมหาดไทย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
กระทรวงมหาดไทย จึงได้ขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารวิทยาลัยฯ แห่งใหม่ ในพื้นของกรมการพัฒนาชุมชน บริเวณตําบลบางละมุง อําเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะพื้นที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยคลอง 4 ด้าน ติดกับชายทะเลจํานวนเนื้อที่ประมาณ 39 ไร่ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 216 ล้านบาท (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2539 – 2542)
การจัดการศึกษาอบรม
วิทยาลัยมหาดไทย มีการจัดการศึกษาอบรมทั้งแบบเผชิญหน้า และแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom
1. หลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี”
2. หลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการของสํานักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย
3. หลักสูตร “นักปกครองระดับสูง” (นปส.)