ประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium on Education and Psychology (ISEP)

รายงานผลโครงการเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium on Education and Psychology (ISEP)

ณ เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2562

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กุลกานต์ อภิวัฒนลังการ

International Symposium on Education and Psychology (ISEP) เป็นการจัดการประชุมวิชาการโดยความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีภาระกิจหลักในการส่งเสริมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎี การประยุกต์ และการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน และการสร้างเครือข่ายเพื่อให้สมาชิก และนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเยาวชนได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการเผยแพร่ผลงานวิชาการ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ International Symposium on Education and Psychology (ISEP) นี้  ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆ 3 หัวข้อ ได้แก่ พฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นและปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่น 4 เรื่อง การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น 2 เรื่อง และการป้องและแทรกแซงพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและวัยรุ่น 2 เรื่อง

  • พฤติกรรมของวัยรุ่นและปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของวัยรุ่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์และสมาร์ตโฟน การข่มเหงรังแกของวัยรุ่น การรับรู้วัฒนธรรมของคนต่างชาติ และการรับรู้เกี่ยวกับเพศสภาวะที่แตกต่างกัน

1.1.1 Influence of computer and smartphone usage on quality of life in youth female   adolescents in Hong Kong

Mei-chun Cheung, Joanne Yip and Chalotte Sze-ham Wong, The Chinese University of Hong Kong and The Hong Kong Polytechnic University, Hong Kong   

คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของวัยรุ่น นอกจากประโยชน์ของอุปกรณ์  ดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังมีผลกระทบที่มองไม่เห็นต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นเหล่านี้ด้วย การศึกษาครั้งนี้ ได้สำรวจปริมาณการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนและอิทธิพลของคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนที่มีต่อ คุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจของวัยรุ่นหญิง โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ วัยรุ่นหญิง จำนวน 390 คน (อายุ เฉลี่ย 11.85  0.51; ช่วงอายุระหว่าง 11 – 14 ปี) คัดเลือกจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของเทศบาล ฮ่องกง การวัดคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจนี้ใช้แบบสำรวจสุขภาพ 36-Item Short Form Health  Survey (SF-36) ซึ่งประกอบด้วย 8 มิติ ได้แก่ (1) การทำหน้าที่ของร่างกาย (2) บทบาทที่ถูกจำกัดเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกาย (3) ความเจ็บปวดทางกาย (4) สุขภาพทั่วไป (5) การมีชีวิต (พลังงาน/ความเหนื่อยล้า)  (6) การทำหน้าที่ทางสังคม (7) บทบาทที่ถูกจำกัดเนื่องจากปัญหาทางอารมณ์ และ (8) สุขภาพจิต คำถามที่ถามจะเกี่ยวกับระยะเวลาที่วัยรุ่นใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าวัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่ ใน 1 วัน ใช้คอมพิวเตอร์โดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมง และใช้สมาร์ตโฟนโดยเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนมีความสัมพันธ์ในทางลบกับคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจ (p <0.05) ดังนั้น ผลการศึกษาจึงแสดงให้เห็นว่าระยะเวลาการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนที่ยาวนานมีผลต่อการทำหน้าที่ของร่างกายและจิตใจที่ลดลงของวัยรุ่นหญิงในฮ่องกงอย่างมีนัยสำคัญ

 

1.1.2 Connections among teachers’ and students’ moral disengagement and bullying behaviors

Li-Ming Chen and Jun-Long Yang, Hsiu-I Hsueh, National Sun Yat-sen University and Ba-Gua Elementary School, Taiwan

          การศึกษานี้เป็นการศึกษาเพื่อสำรวจว่าการที่ครูขาดคุณธรรมมีผลต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของครูหรือไม่ และเพื่อทำนายการขาดคุณธรรมและพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียน จำนวน 1,103 คน (อายุเฉลี่ย = 13.8) จากเกรด 5 – 12 ที่มีส่วนร่วมและตอบแบบสอบถาม พฤติกรรมการขาดคุณธรรมและพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของครูจะถูกประเมินโดยประสบการณ์ของเด็กเองและจากการสังเกตของเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง ผลการศึกษา พบว่า การขาดคุณธรรมของครูไม่สามารถทำนายพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของครู และพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของครูไม่สามารถทำนายพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของนักเรียนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การขาดคุณธรรมของครูสามารถทำนายการขาดคุณธรรมของนักเรียน และมีผลต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกของนักเรียน ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการที่นักเรียนมีพฤติกรรมการข่มเหงรังแกอาจไม่ได้มีตัวแบบมาจากครู แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่น โดยนักเรียนที่มีพฤติกรรมการข่มเหงรังแก อาจเกิดจากการที่เด็กขาดคุณธรรมซึ่งเป็นผลจากการเห็นต้นแบบการขาดคุณธรรมจากครู

1.1.3 Exploring university English learners’ intercultural awareness: Are we ready in a globalized academic setting?

Pey-chewn Duo, Min-hsun Su, Huey-Ting Ho, San-Shan Huang, Hsiao-Ting Jian, Ming Chuan University, Taiwan R.O.C.

      เนื่องจากโลกาภิวัฒน์ด้านวิชาการ ทำให้นักศึกษามีโอกาสในการพบปะและเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนที่มีภูมิหลังหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นต้องอาศัยการตระหนักถึงวัฒนธรรมของตนเองและวัฒนธรรมของผู้อื่นผ่านพฤติกรรมการสื่อสาร การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการรับรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของนักศึกษาไต้หวันที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีวิชาเอกภาษาอังกฤษ  กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 284 คนที่กำลังศึกษาปีการศึกษา 2018 โดยใช้แบบวัด Intercultural Sensitivity Scale และแบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว และการสัมภาษณ์เชิงลึกภายหลังเพื่อทำความเข้าใจการรับรู้ของนักศึกษามากขึ้น ผลการศึกษาพบว่านักศึกษาส่วนมากมีการรับรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันในระดับกลางถึงสูง โดยปัจจัยส่วนตัวไม่มีความสัมพันธ์กับการรับรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ยกเว้นปัจจัยด้านเพศ โดยนักศึกษาหญิงมีระดับของการรับรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของวัฒนธรรมในระดับสูงกว่านักศึกษาชาย

1.1.4 The meaning of affective education for teenagers in Taiwan: Perspectives of teachers, parents and students

Li-An Kuo, Shou Lee, Bor Lee, National Changhua University of Education, Open University of Kaoshsiung, Asia University, Taiwan R.O.C.

การให้ความรู้เกี่ยวกับอารมณ์ เพศศึกษา และการให้ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQ เป็นหนึ่งในข้อกฎหมายที่มีในประเทศไต้หวันมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นข้อคำถามในการนำไปปฏิบัติจริงในการให้ความรู้ และเป็นปัญหาสำหรับครูในการให้ความรู้ในประเทศไต้หวัน ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดกฎหมายของการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี 2017 แล้วก็ตาม แต่ประเด็นนี้ก็ยังคลุมเครือโดยเฉพาะการเชื่อมโยงเกี่ยวกับสิทธิของเกย์ และการเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและการเท่าเทียมกันของกลุ่มเพศเดียวกัน

การศึกษานี้เก็บข้อมูลโดยใข้แบบสอบถามในการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครู วัยรุ่น และพ่อแม่ของวัยรุ่นจาก 19 โรงเรียนในไต้หวันจำนวน 1,968 คน ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์จำนวน 1,586 คน เป็นแบบสอบถามจากนักเรียน เกรด 9-12   จำนวน 1,090 คน พ่อแม่ 156 คน และครู 340 คน ผลการศึกษาพบว่า

  1. กว่าร้อยละ 90 ของนักเรียน พ่อแม่ และครูรับรู้ว่าเพศศึกษา และ การศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความรู้ในบริบทของโรงเรียน
  2. การศึกษานี้พบดัชนี 15 ข้อที่อธิบายความหมายของการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ ในขณะที่นักเรียนกว่าร้อยละ 50 รับรู้ว่าดัชนี 13 ข้อจาก 15 ข้อเป็นดัชนีที่สำคัญ ในขณะที่พ่อแม่และครูตระหนักถึงดัชนีที่สำคัญเพียง 4 หรือ 5 ข้อเท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่านักเรียนและพ่อแม่มีความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาและการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์
  3. ในดัชนี 15 ข้อนั้น พ่อแม่ ครูและนักเรียนเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับดัชนีที่สำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาวะ ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ การควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ ขอบเขตของร่างกายและความเป็นอิสระหรือสิทธิของร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับความรักและการมีเพศสัมพันธ์ การรักษาความสัมพันธ์แบบคู่รักและ รสนิยมทางเพศและการแสดง/ระบุเพศสภาวะ
  4. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างความคิดของครู พ่อแม่และนักเรียน เกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQ และเพศสภาวะ พบว่า ทั้ง 3 กลุ่มจัดลำดับความสำคัญของดัชนีที่ 6 จาก 15 ข้อ แต่ครูและพ่อแม่ให้ความสำคัญกับดัชนีที่ 11 และ 13 เหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนให้ความสำคัญกับรสนิยมทางเพศ การให้ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQ และการศึกษาเพศสภาวะมากกว่าพ่อแม่และครู
  5. ทั้ง 3 กลุ่มเห็นพ้องกันเกี่ยวกับอุปสรรคเกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ในไต้หวัน ซึ่งรวมไปถึงการขาดแคลนสื่อการสอนที่เหมาะสม และการไม่มีเวลาในการให้ความรู้อย่างพอเพียง

 

  • การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น เป็นการส่งเสริมการอ่านของเด็กก่อนวัยเรียนและวัยรุ่น มี 2 เรื่อง ได้แก่

1.2.1 The role of parent-child reading in preschool, emergent literacy and reading skill: a longitudinal study

Chun Jung (1), Hsiu Tan Liu, Chung Shan Medical University and National Taiwan Normal University, Taiwan

 การเรียนรู้เพื่อให้อ่านออกได้เป็นกระบวนการสำคัญสำหรับเด็กซึ่งอาศัยอยู่ในโลกของการรู้หนังสือ ซึ่งการอ่านออกได้นี้มีกรอบอยู่ 2 แนวทาง คือ จากข้างนอกสู่ข้างใน (เช่น ภาษาพูด) และจากข้างในสู่ข้างนอก (เช่น กระบวนการออกเสียง การตระหนักในภาษาเขียน)  อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการอ่านในระยะแรกเป็นการศึกษากับเด็กที่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนพัฒนาการของการอ่านในระยะเริ่มต้นและทักษะการอ่านในเด็กที่ใช้ภาษาแมนดารินยังไม่ชัดเจน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับบทบาทของผู้ปกครองในการอ่านออกในระยะแรกของเด็กปฐมวัย และติดตามผลของพัฒนาการด้านความสามารถในการอ่านของเด็ก

การศึกษาครั้งนี้ศึกษาเด็กที่ใช้ภาษาแมนดาริน จำนวน 40 คน เก็บข้อมูลจากประสบการณ์การอ่านของผู้ปกครองกับเด็ก (เวลาเริ่มต้นของการอ่านด้วยกัน, ระยะเวลาการอ่านในแต่ละครั้ง, จำนวนครั้งในแต่ละสัปดาห์) ทักษะการรู้หนังสือในระยะแรกเริ่ม (ความสามารถเกี่ยวกับกระบวนการออกเสียง, ความรวดเร็วในการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ, คำศัพท์, การตระหนักในภาษาเขียน) และความสามารถในการอ่าน (การจดจำคำได้, ความเข้าใจ) วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าสหสัมพันธ์ ผลการศึกษาพบว่าความสามารถในการอ่านของเด็กมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับประสบการณ์การอ่านของผู้ปกครองกับเด็ก ทักษะการรู้หนังสือในระยะแรกเริ่ม และความสามารถในการอ่าน แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์การถดถอยของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการอ่านของเด็ก ซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

           1.2.2 A development of drill patterns to enhance skills in reading for main ideas and writing summaries by using Thai folktales for Chinese students

Kittipong Phumpuang, Patcharin Buranakorn, Naresuan University and Huachiew Chalermprakiet University, Thailand.

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเขียนสรุปความสำคัญของภาษาไทยของนักเรียนจีนที่มาศึกษาในประเทศไทยโดยใช้นิทานอีสปของไทยเป็นสื่อ การศึกษานี้เป็นการศึกษากึ่งทดลองกลุ่มตัวอย่างได้แก่นักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ภาควิชาศิลปศาสตร์ชั้นปีที่ 2 จำนวน 15 คน โดยให้นักศึกษาอ่านเรื่องและสรุปประเด็นสำคัญของนิทานอีสปแต่ละเรื่อง 10 เรื่อง สัปดาห์ละ 1 เรื่อง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ซึ่งเหตุผลของการเลือกใช้นิทานอีสป เพราะเป็นสื่อที่มีการใช้คำที่หลากหลาย ใช้สุภาษิตคำพังเพย และสอดแทรกเนื้อหา คำสอน ความคิดต่างๆ ซึ่งนิทานอีสปไทย เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษาไทยสำหรับนักศึกษาจีนที่ต้องการเรียนภาษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจีนที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาไทย นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะทางภาษาแล้วยังพัฒนาความอดทน ความรักในการเรียน ทัศนคติที่ดี และความสนใจในการเรียนภาษาไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่อ่านนิทานอีสปมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนภาษาสูงขึ้น และทำให้นักศึกษามีทักษะและประสิทธิภาพในการเรียนสูงขึ้น

 

1.3 การป้องและแทรกแซงพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น มี 2 เรื่อง ได้แก่ การแทรกแซงการออกกลางคันของนักศึกษา และ การแทรกแซงการถูกข่มเหงรังแกทางไซเบอร์

1.3.1 Methods of reducing the student drop out rate at FPT University

Thuy Do Thi Minh, FPT University, Vietnam

          ตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษา นอกจากประกอบด้วยอัตราการสำเร็จการศึกษาและอัตราการสมัครเข้าเรียนแล้ว อัตราการออกกลางคันของนักศึกษาเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ ซึ่งอัตราการออกกลางคันมักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับหลายประเด็น เช่น ความสามารถของนักศึกษา คุณภาพของกิจกรรมการบริการนักศึกษา และคุณภาพของกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นต้น

ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์อัตราการออกกลางคันของนักศึกษาของ FPT University ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาสำหรับแต่ละหลักสูตรในภาคการศึกษา จากนั้นผู้วิจัยได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราการออกกลางคัน หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดอัตราการออกกลางคัน ประการแรก เริ่มจากหน่วยงานประกันคุณภาพทำการสัมภาษณ์นักศึกษาเป็นรายบุคคล โดยสัมภาษณ์นักศึกษาที่ลาออกกลางคันแล้ว และนักศึกษาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะลาออกกลางคัน ผลการวิเคราะห์พบว่ามี 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกกลางคันของนักศึกษา ได้แก่ ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านจิตวิทยา และปัญหาด้านการเงิน ประการที่ 2 มหาวิทยาลัยวางแผนและดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทั้งในเรื่องการเรียน การดูแลสภาพจิตใจ และการช่วยเหลือทางการเงิน ประการสุดท้าย ผู้วิจัยประเมินผลการวิเคราะห์กิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งผู้วิจัยสรุปว่ามหาวิทยาลัยยังคงดำเนินการและพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่นเดียวกับการค้นคว้าและทดลองแนวทางต่าง ๆ ที่  เป็นไปได้เพื่อลดอัตราการออกกลางคันในอนาคต

           1.3.2 Cyberbullying prevention program for adolescents in Taiwan

Hsiang-Ju Shih, Yueh-Ting Chung, Pei-Wen Liu, National Tsing Hua University and Chu-Jen Elementary School, Taiwan

           วัยรุ่นจำนวนมากมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์ ลักษณะเสมือนจริงในอินเทอร์เน็ตทำให้สถานการณ์ข่มเหงรังแกเป็นสถานการณ์ที่มีความเครียดและยากในการเยียวยามากกว่าปกติเนื่องจากผู้แกล้งและผู้ถูกแกล้งไม่เห็นหรือไม่รู้จักหรือเห็นหน้าซึ่งกันและกัน และสถานการณ์การข่มเหงรังแกในโลกเสมือนจริงในอินเทอร์เน็ตเป็นสถานการณ์ที่ยากสำหรับพ่อแม่หรือครูในการรับรู้หรือสังเกตได้ ดังนั้นโปรแกรมป้องกันการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนที่ทำงานกับวัยรุ่น การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาความต้องการของวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับการถูกข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์และพัฒนาโปรแกรมป้องกันการถูกข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์สำหรับวัยรุ่นในไต้หวัน ผลการศึกษาความต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์ของวัยรุ่นพบว่า

  1. การข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกในสถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน โปรแกรมป้องกันการข่มเหงรังแกกันในสถานการณ์ปกติจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์
  2. วัยรุ่นที่มีส่วนร่วมในการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์อาจไม่ได้มีบทบาทใดบทบาทเดียว แต่อาจเป็นคนที่ข่มเหงรังแกคนอื่น คนดู เหยื่อ และเป็นทั้งคนข่มเหงรังแกและเหยื่อ ซึ่งบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปมาได้ ซึ่งวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบทางลบไม่ว่าจะสวมบทบาทไหน ซึ่งโปรแกรมแทรกแซงนี้ควรให้ความสำคัญกับทุกบทบาทและการมีปฏิสัมพันธ์และพลวัตรของบทบาทเหล่านั้น
  3. วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยง หลีกหนี แก้แค้นหรือเอาคืน หรือขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาคนอื่น
  4. ตัวอย่างของโปรแกรมป้องกันการการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์ได้แก่ ConRid, KiVa, Media Heroes, Cyber Friendly School ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของโปรแกรมเหล่านี้ คือ  1) การแทรกแซงด้านสติปัญญาและพฤติกรรม 2) การฝึกให้วัยรุ่นรู้จักการเห็นอกเห็นใจคนอื่น ทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจ 3) การสอดส่องดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต 4) การจัดการทางอารมณ์และการฝึกทักษะทางสังคม  5) การส่งเสริมสุขภาวะทางด้านจิตใจ

การศึกษานี้พัฒนาโปรแกรมจากโปรแกรม Cyber Wood ที่คำนึงถึงบริบทของนิเวศและพลวัตรต่างๆ และการใช้การร่วมมือของระบบที่เอื้ออำนวยให้วัยรุ่นมีการสะท้อนและส่งเสริมความสามารถและกลยุทธ์ในการรับมือกับการถูกข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์ ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นหลักใน 14 บทเรียน ได้แก่

  • การรับรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์และพฤติกรรมออนไลน์ 3 บทเรียน ได้แก่ กิจกรรม คน และสังคมออนไลน์
  • การสะท้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์และการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์ 5 บทเรียน ได้แก่ การแสดงพฤติกรรมออนไลน์ และการอภิปรายเกี่ยวกับศีลธรรมและบรรทัดฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์
  • ความรู้เกี่ยวกับอารมณ์ 3 บทเรียน ได้แก่ การแสดงความรู้สึกและการฝึกการเห็นอกเห็นใจ
  • ทักษะต่างๆ 2 บทเรียน ได้แก่ ทักษะทางสังคมการฝึกการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
  • ทบทวนและบูรณาการ 1 บทเรียน ได้แก่ ความสำคัญและวิธีรายงานการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์และการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวการถูกข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์

           โปรแกรมนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนประถมในภาคเหนือของไต้หวัน ซึ่งให้ความรู้โดยครูที่โรงเรียนที่เชี่ยวชาญในการสอนและคุ้นเคยกับโปรแกรม ผลการศึกษาพบว่าเด็กนักเรียนการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ได้แก่

           1) ระดับสติปัญญาและมีการรับรู้และกลยุทธ์ในการเยียวยาเกี่ยวกับฺการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น

           2) ระดับสติปัญญาและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น

           3) นักเรียนมีการรับรู้พฤติกรรมเอื้อต่อสังคมของเพื่อนและบรรยากาศที่ดีของโรงเรียนมากขึ้น