ประสบการณ์เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติInternational Conference on Psychology and Behavioral Sciences (ICPBS 2019)

รายงานผลการเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ
ICPBS 2019: International Conference on Psychology and Behavioral Sciences

ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 10 - 11กันยายน 2562

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กุลกานต์ อภิวัฒนลังการ

ICPBS 2019: International Conference on Psychology and Behavioral Sciences มีภาระกิจหลักในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานหลากหลายอาชีพทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ และในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์และผลการวิจัยในด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ และเป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักปฏิบัติการและนักวิชาการในการนำเสนอ อภิปราย และวิพากษ์ในประเด็นที่เป็นปัญหา ประเด็นที่ทันสมัย นวัตกรรม แนวโน้ม และสิ่งที่เกี่ยวเนื่อง และความท้าทายต่างๆ ในการแก้ปัญหาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์

งานวิจัยที่น่าสนใจที่นำเสนอในการประชุมวิชาการครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านจิตวิทยาและการพัฒนา 2) การพัฒนาเครื่องมือในการศึกษาด้านจิตวิทยา และ 3) เครื่องมือที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์

1.1 ด้านจิตวิทยาและการพัฒนาซึ่งในกลุ่มนี้มี 3 เรื่อง ได้แก่ การสำรวจความเครียดและการจัดการกับความเครียดของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา และการจัดการกับความเครียดโดยการทำสมาธิ และการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังในที่ทำงาน

1.1.1 A Study on the Ideal and Actual Coping Responses of Public and Private College School Teachers on Job-Related Stress

Zeralyn Bernado,* Dente Boac, Annabelle Del Rosario, *College of Mary Immaculate Inc., Philippines

          บุคลากรในวิชาชีพที่มีบทบาทเกี่ยวกับการเรียนการสอนให้กับคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจากความเครียดในการทำงาน งานวิจัยชิ้นนี้ใช้การวิจัยแบบผสมผสานเพื่อสำรวจรูปแบบการจัดการกับความเครียดของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา ทั้งที่เป็นแบบอุดมคติและแบบที่ปฏิบัติจริง ทั้งในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล โดยใช้แบบประเมินการตอบสนองการรับมือกับความเครียด สำหรับผู้ใหญ่ (Coping Response Inventory: CRI – Adult) ซึ่งมีคำแนะนำว่าเพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างความพยายามในการจัดการและรูปแบบที่ต้องการให้จัดการ ผลการศึกษาแสดงถึงแหล่งที่มาของความเครียดของครู ซึ่งได้แก่ ภาระงานและอัตราเงินเดือนต่ำ ทั้งในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล นอกจากนี้ ความแตกต่างของรูปแบบการจัดการที่เป็นอุดมคติและรูปแบบที่ปฏิบัติจริงของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาก็เป็นสาเหตุของความเครียด แม้ว่าครูในโรงเรียนรัฐบาลเอนเอียงไปทางการจัดการที่มุ่งเน้นที่ปัญหา ซึ่งเป็นรูปแบบอุดมคติในการจัดการ หากในสถานการณ์จริงทั้งครูในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาลค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางการจัดการที่มุ่งเน้นที่อารมณ์ ผลของการสนทนากลุ่มยังระบุปัจจัยที่ส่งเสริมความไม่สอดคล้องกันของรูปแบบการจัดการที่เป็นแบบอุดมคติและแบบที่ปฏิบัติจริง ปัจจัยที่ระบุจากการวิเคราะห์เนื้อหารายหัวข้อ ของความเครียดได้แก่ อารมณ์และการใช้การตอบสนองแบบซ้ำ ๆ ในแบบที่ต้องการ ความอ่อนไหวต่อแรงกดดันที่ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาลดลง การค้นหาการยอมรับจากสังคม การประเมินที่ไม่ชัดเจนเรื่องการรับรู้ความเครียด ความผิดปกติทางอารมณ์และความหุนหันพลันแล่น ความต้องการทำให้อารมณ์ทางลบหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยส่วนใหญ่นี้ค่อนข้างชัดเจนในกลุ่มผู้ตอบคำถามที่ใช้การจัดการความเครียดที่มุ่งเน้นที่อารมณ์

1.1.2 Effect of Automatic Self Transcending Meditation on Perceived Stress and Sleep Quality in Adults

Divya Kanchibhotla*, Shashank Kulkarni, Shweta Singh, *Sri Sri Institute for Advanced Rasearch, India

          ความเครียดเรื้อรังและคุณภาพของการนอนหลับทำให้สุขภาพจิตของบุคคลลดลงและเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาความหดหู่และความวิตกกังวลด้วยเช่นกัน มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการฝึกสมาธิเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงทางคลินิกเพื่อลดความหดหู่และความวิตกกังวล การศึกษาในปัจจุบันพยายามศึกษาผลกระทบของการฝึกสมาธิแบบ Sahaj Samadhi Meditation: SSM ซึ่งเป็นหมวดหนึ่งของการฝึกสมาธิแบบ Automatic Self Transcending Meditation: ASTM ที่เกี่ยวกับการรับรู้ความเครียดและคุณภาพของการนอนหลับในผู้ใหญ่ การออกแบบการศึกษาใช้วิธีการประเมินก่อนและหลังสำหรับกลุ่มตัวอย่าง 1 กลุ่ม ด้วยแบบประเมิน Perceived Stress Scale: PSS และ Pittsburgh Sleep Quality Index: PSQI  ผู้ร่วมโครงการจำนวน 52 คน ตอบแบบประเมิน PSS และอีก 60 คน ตอบแบบประเมิน PSQI โดยตอบเมื่อเริ่มต้นโปรแกรม (วันที่ 0) หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ (วันที่ 16) และในอีก 2 เดือนต่อมา (วันที่ 60) พบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของแบบประเมินก่อนและหลังของระดับการรับรู้ความเครียดในวันที่ 0 – วันที่ 16 (p < 0.01; Cohen’s d = 0.46) และวันที่ 0 – วันที่ 60 (p < 0.01; Cohen’s d = 0.76) ซึ่งอธิบายได้ด้วยการฝึกสมาธิแบบ SSM ที่ผู้ร่วมโครงการมีประสบการณ์ในการลดการรับรู้ความเครียด ส่วนขนาดของผลกระทบของการแทรกแซงที่สังเกตได้ในวันที่ 16 ของการประเมินมีขนาดน้อยถึงปานกลาง แต่ในวันที่ 60 พบว่า ขนาดของผลกระทบของการแทรกแซงมีขนาดปานกลางถึงมาก นอกจากนี้ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพของการนอนหลับของวันที่ 0 และวันที่ 16 – วันที่ 60 (p < 0.05) ซึ่งอธิบายได้ด้วยการฝึกสมาธิแบบ SSM ที่ผู้ร่วมโครงการมีประสบการณ์ในการปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับ เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินในวันที่ 0 ผู้ร่วมโครงการแสดงให้เห็นการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญเรื่องคุณภาพของการนอนหลับในวันที่ 16 และวันที่ 60 โดยขนาดของผลกระทบของการแทรกแซงที่สังเกตได้ในวันที่ 16 ของการประเมินมีขนาดเล็ก แต่ในวันที่ 60 พบว่า ขนาดของผลกระทบของการแทรกแซงที่สังเกตได้มีขนาดเล็กถึงปานกลาง ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า หลังจากการฝึกสมาธิแบบ SSM เป็นเวลา 2 เดือน ผู้ร่วมโครงการรายงานว่ามีการลดลงของการรับรู้ความเครียด พวกเขารู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นในความสามารถในการรับมือกับปัญหาส่วนตัว สามารถจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องทำ รู้สึกโกรธน้อยลง นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการยังรายงานว่า โดยทั่วไปมีคุณภาพของการนอนหลับดีขึ้น นอนหลับได้เร็วขึ้น มีสิ่งรบกวนที่ทำให้นอนไม่หลับน้อยลง การทำงานผิดพลาดในเวลากลางวันเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอน้อยลง การศึกษาครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นชัดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการรักษาแบบไม่ใช้ยาเข้าแทรกแซง เช่น การฝึกสมาธิแบบ SSM ในการลดความเครียดและการปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับ ดังนั้น การฝึกสมาธิแบบ ASTM อาจพิจารณาว่าเป็นการแทรกแซงที่เป็นประโยชน์ในการลดความเครียดสำหรับประชากรที่มีสุขภาพดีและประชากรทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย และเป็นการรักษาทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับและเป็นการลดการใช้ยากล่อมประสาทที่มีอันตราย

1.1.3 Influence of perceived organizational support and emotional intelligence on organizational cynicism among millennials

Paridhi Agarwal, Kusum M.George, Christ University, India

ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในที่ทำงาน ดังนั้นการเกลียดชังในที่ทำงานจึงเป็นตัวแปรที่ส่งผลสำคัญของผู้ทำงาน ซึ่งยังเป็นที่โต้แย้งกันว่าปัจจัยใดที่สัมพันธ์กับ psychological disengagement หรือ antagonism ในที่ทำงาน การเกลียดชังในที่ทำงาน (organizational cynicism, OC) ถูกระบุความหมายว่า เป็นการมีเจตคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับองค์ ความเชื่อว่าองค์กรมีความสมัครสมานสามัคคีน้อย และมีผลกระทบทางลบหรือมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่เห็นคุณค่าขององค์กร

การศึกษานี้จึงศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเกลียดชังในที่ทำงาน (OC) โดยหาตัวแปรที่สัมพันธ์กับความเกลียดชังในที่ทำงานจาก 2 ตัวแปร ได้แก่ การรับรู้การสนับสนุนขององค์กร (Perceived organizational support, POS) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence, EI) ซึ่งการศึกษานี้ใช้แบบวัดมาตรฐาน 3 แบบวัด ได้แก่ OC ใช้แบบวัด Standardized Organizational Cynicism Scale, POS ใช้แบบวัด Perceived organizational support questionnaire และ ความฉลาดทางอารมณ์ ใช้แบบวัด Goleman’s emotional intelligence test โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 104 คนในองค์กรเอกชน มีอายุระหว่าง 22-35 ปี ผลการศึกษาพบว่า การรับรู้ทางอารมณ์สังคมมีความสัมพันธ์กับ OC ในกลุ่มผู้ชายมากกว่ากลุ่มผู้หญิง โดยความฉลาดทางอารมณ์และการได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากหน่วยงานทั้ง 2 ตัวแปรร่วมกันสามารถทำนาย OC ได้ แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะตัวแปร พบว่า เฉพาะตัวแปรการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของหน่วยงานเป็นตัวแปรที่อธิบาย OC ได้ดีที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย ส่วนตัวแปรอื่นๆ อธิบายได้ดีกว่าในกลุ่มผู้หญิง

1.2. การพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาด้านจิตวิทยา ได้แก่ การศึกษาแบบสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแบบประเมินออนไลน์ด้านจิตวิทยาของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รายละเอียดมีดังนี้

1.2.1 Development of patient satisfaction questionnaire for diabetes management in Thailand and Lao people democratic republic

Phoutsathaphone Sibounheuang, Phayom Sookaneknun Olson, Chanuttha Ploylearmsang, Santiparp Sookaneknun, Chanthanom Manithip, Mahasarakham University, Thailand

การพัฒนาแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยเพื่อพัฒนาการบริการและจัดการผู้ป่วยโรคเบาหวาน นักวิจัยได้พัฒนาแบบสอบถามความพึงพอใจจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของการศึกษาเชิงปริมาณในมุมมองของผู้ป่วยและผู้ให้บริการ แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นใหม่ประกอบด้วยคำถาม 45 ข้อจาก 11 ด้าน ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและแปลเป็นภาษาลาว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบแบบสอบถามเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานคนไทย 150 คน และคนลาว 150 คน การทดสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือโดยใช้ factor analysis และ Pearson correlation และมีการทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์ Cronbach’s alpha การศึกษานี้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและ National Ethics Committee for Health Research ประเทศลาว ผลการศึกษาพบว่า แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นใหม่ 11 ด้าน อธิบายความแปรปรวนร้อยละ 71.23 สำหรับแบบสอบถามภาษาไทย และ ร้อยละ 71.66 สำหรับแบบสอบถามภาษาลาว คะแนนความพึงพอใจของผู้ป่วย และการประเมิน Kaiser-Meyer-Olkin (KMO) วัดได้ 0.85 สำหรับแบบสอบถามภาษาไทย และ ร้อยละ 0.75 สำหรับแบบสอบถามภาษาลาว ส่วนการทดสอบ Barlett มีนัยสำคัญ (p< 0.001) factor loading ทั้งสองแบบ ≥ 0.40 convergent validity สำหรับแบบสอบถามภาษาไทย = ร้อยละ 93.63 และ ร้อยละ 79.54 สำหรับแบบสอบถามภาษาลาว discriminant validity สำหรับแบบสอบถามภาษาไทย = ร้อยละ 92.68และ ร้อยละ 88.68 สำหรับแบบสอบถามภาษาลาว ค่าสัมประสิทธิ์ Cronbach’s alpha=0.95 การศึกษานี้สรุปได้ว่าเครื่องมือประเมินความพึงพอใจนี้มีความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงดี

1.2.2 Developing E-psychological instrument for an effective flood victims’ mental health management

Nazilah, University Malaysia Terengganu, Malaysia

สถานการณ์น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดอย่างไม่คาดคิดซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการประเมินอาการทางพยาธิวิทยาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นขั้นแรกที่สำคัญในการแทรกแซงและการได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินอาการหรือผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบยังมีความหลากหลายโดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่ประเมินเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพยาธิสภาพที่มีการพัฒนาไว้แล้วในรูปของเครื่องมือออนไลน์ (e-Psychological instrument , e-PIFV) ซึ่งพัฒนาจาก Psychological instrument for flood victims สำหรับประเมินผลกระทบของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เครื่องมือนี้ได้ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่เป็นนักจิตวิทยาคลีนิก และจิตแพทย์ แล้วจึงนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการศึกษานี้มี 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการประเมินความเหมาะสมทั่วไปของเครื่องมือ (face validity) และระยะที่ 2 เป็นการประเมินความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (content validity)

เครื่องมือออนไลน์ e-PIFV นี้ เป็นเครื่องมือให้ผู้ตอบตอบด้วยตนเอง 84 ข้อคำถามที่ถาม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความเครียด ความกระวนกระวาย การซึมเศร้า และการบาดเจ็บ โดยผู้ตอบเป็นวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ตอนปลาย ซึ่งข้อคำถามแต่ละข้อมีให้เลือกตอบจาก 3 คำตอบ ได้แก่ ใช่ ไม่ใช่ และไม่แน่ใจ ถ้าตอบใช่ ให้คะแนน =3 ถ้าตอบไม่ใช่ ให้คะแนน= 0 และถ้าตอบไม่แน่ใจให้คะแนน =1 แต่ละประเด็นหลักมี 21 คำถามที่ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และพฤติกรรมการตอบสนอง

          การศึกษาได้มีการทดลองทำซ้ำ 2 ครั้งเพื่อทดสอบเครื่องมือโดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ ผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องมือมีค่าความเที่ยงตรงในแต่ละประเด็นย่อย 4 ด้าน จากปานกลางถึงดี ในการศึกษาครั้งที่ 1 ค่าสัมประสิทธิ์ของความเที่ยงตรงของด้านความเครียด=0.7, ความกระวนกระวาย= 0.9, ความซึมเศร้า= 1.0, การบาดเจ็บ =0.6 และความเที่ยงตรงโดยรวม =0.8 สำหรับการศึกษาครั้งที่ 2 ค่าสัมประสิทธิ์ของความเที่ยงตรงเพิ่มขึ้น 2 ด้าน และสัมประสิทธิ์ความเที่ยงตรงโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยค่าสัมประสิทธิ์ของความเที่ยงตรงของด้านความเครียด=0.8, ความกระวนกระวาย= 0.9, ความซึมเศร้า= 1.0, การบาดเจ็บ =0.8 และความเที่ยงตรงโดยรวม =0.9 ดังนั้นการศึกษานี้สนับสนุนกรอบแนวคิดและสามารถนำไปใช้ในการทดสอบสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้

1.3. เครื่องมือที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับการรักษาการซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ

Method for improving antidepressants adherence in patients with depressive disorder systemic review and meta-analysis

Juntip Kanjanasilp, Ratree Sawangjit, Kanokporn Meelap, & Kwanchanok Kruthakook, Mahasarakham University, Thailand

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทั่วไปของการผิดปกติทางจิต และการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ผลคนไข้ก็ต้องมีการรักษาอย่างถูกวิธี แต่ผู้ป่วยจำนวนมากมีการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อศึกษาว่าวิธีการใดที่ส่งผลให้คนไข้มีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มผลลัพธ์ของการรักษาให้ดีขึ้น การศึกษานี้เป็นการใช้ meta-analysis โดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบโดยมีการค้นหาวรรณกรรมจากการหาผ่านระบบฐานข้อมูลใน Cochrane, library, Pubmed, Embase, PsycINFO, CINAHL,Education search, web of science and ThaiLIS (ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2560) ได้การศึกษา 23 เรื่อง โดยมีการประเมินคุณภาพงานวิจัยโดยใช้ ROB 2.0 ผลการศึกษาพบว่าลักษณะสื่อที่ใช้ให้ความรู้ที่แตกต่างกันส่งผลให้มีการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน โดยสื่อสิ่งพิมพ์เป็นวิธีการที่ส่งผลให้คนไข้มีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่การให้ความรู้ การใช้โทรศัพท์ และการใช้โปรแกรมต่างๆ ไม่ส่งผลให้การรักษามีความแตกต่างกัน ส่วนกลุ่มของผู้ให้บริการ ได้แก่ เภสัชกร กลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มแพทย์ที่แตกต่างกัน ไม่ส่งผลให้การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าแตกต่างกัน และระยะเวลาที่ใช้โปรแกรมแทรกแซงส่งผลให้เกิดการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันโดยระยะเวลา 1 เดือน และ 6 เดือน แต่ก็ไม่แตกต่างกันเมื่อมีการใช้การแทรกแซงหลายกลุ่ม การมีการแทรกแซงหลายกลุ่มพัฒนาการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้โทรศัพท์และการใช้กลุ่มแพทย์เป็นผู้ให้ข้อมูลเป็นวิธีการที่ส่งผลให้ผลการรักษาทางคลีนิกมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบผลการใช้กลุ่มเภสัชกรและกลุ่มแพทย์พบว่าผลลัพท์ไม่แตกต่างกัน และระยะเวลาในการเข้าร่วมโปรแกรมและจำนวนครั้งที่เข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างจากการให้ความรู้แบบปกติที่สถานพยาบาล ในภาพรวมการเข้าร่วมโปรแกรมแทรกแซงส่งผลให้มีรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในระยะเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน และผู้ให้ความรู้ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย เช่น จิตแพทย์

 

บทความ

แหล่งรวมบทความโดยคณาจารย์สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์

ด้านครอบครัวและสังคม

ด้านอาหารและโภชนาการ

ประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรม และความรู้อื่นๆที่น่าสนใจ