ประวัติความเป็นมา
ของสาขาวิชาฯ

เริ่มต้นจากคหกรรมศาสตร์...

    สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ได้เปิดการเรียนการสอนคหกรรมศาสตร์ในระดับทางไกลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2525 โดยในขณะนั้นเรียกชื่อว่า “สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์” แนวคิดหลักของการจัดการศึกษา สาขาวิชาอยู่บนพื้นฐานของการนําศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มาประยุกต์ใช้โดยอาศัยหลักของ การจัดการทรัพยากรครอบครัวและชุมชน เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม การเปิดสอนระยะแรกนั้น สาขาวิชาได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี โดยเปิด 2 วิชาเอก คือ วิชาเอกโภชนาการชุมชน และวิชาเอกพัฒนาการเด็กและครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งพัฒนา ชนบทของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานของการดําเนินชีวิตของครอบครัวไทยและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถแก่บุคลากรในท้องถิ่นต่างๆ ให้สามารถ นําความรู้ทางคหกรรมศาสตร์ไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง

     สาขาวิชาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เชื่อมโยงคหกรรมศาสตร์กับธุรกิจ เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนา ไปสู่สังคมเกษตรอุสาหกรรมใหม่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 2539)ที่มุ่งเน้นการ ขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม นับเป็นการตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนตอบสนองต่อ ความต้องการของประเทศ สาขาวิชาฯ จึงขยายขอบข่ายแขนงวิชาที่เปิดสอน เป็นแขนงวิชา “คหกรรมศาสตร์ธุรกิจ” โดยได้ เปิดหลักสูตรระดับปริญญาต่อเนื่อง 2 ปี ใน 2 วิชาเอก คือ วิชาเอกธุรกิจอาหาร และวิชาเอกการโรงแรมและภัตตาคาร อีกทั้งยังได้ขยายการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาด้วยตระหนักถึงการที่สังคมโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2549) ที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาจึงได้เปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา วิชาเอกการพัฒนาครอบครัวและสังคมใน พ.ศ.2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนําความรู้ความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องการการพัฒนาครอบครัวและสังคมมาประยุกต์ต่อการศึกษา การวิเคราะห์สภาพปัญหาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคม ตลอดจนนําความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นไป พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน และสังคมในการปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชน

จากคหกรรม สู่ มนุษยนิเวศศาสตร์...

      แม้ว่าสาขาวิชา ฯ ภายใต้ชื่อ “คหกรรมศาสตร์” จะผลิตบุคลากรสนองความต้องการของประเทศไทยตลอดเวลา มากกว่า 20 ปี แต่สังคมยังคงเข้าใจว่า “คหกรรมศาสตร์” เป็นเพียงวิชาชีพของแม่บ้านแม่เรือน ทั้งที่จริงแล้วศาสตร์ด้านนี้เป็นศาสตร์ของการบูรณาการสิ่งแวดล้อมที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ สาขาวิชาได้เล็งเห็นความจําเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนชื่อสาขาวิชา ให้ครอบคลุมศาสตร์ด้านนี้อย่างแท้จริง โดยได้เล็งเห็นถึงแนวคิดจากมนุษยนิเวศศาสตร์ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวทั้งทางกายภาพและทางสังคม ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและคุณภาพของชีวิตมนุษย์ 

     แนวคิดการเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาเพื่อให้สอดคล้องกับขอบข่ายของงานวิชาการได้เริ่มดําเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2546 และได้ดําเนินการเปลี่ยนชื่อ สาขาวิชาใหม่ใน พ.ศ. 2549 เป็น “สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์” ซึ่งเป็นการนําแนวคิดเชิงระบบมนุษยนิเวศ ที่เป็นการศึกษาปฏิสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับบริบทแวดล้อมต่างๆ อันส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สามารถพัฒนาและขยายขอบข่ายไปสู่ธุรกิจชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล โดยเริ่มต้นจากครอบครัวสู่ชุมชนและสังคมให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและมีคุณค่า สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนตลอดไป 

    หลังจากเปลี่ยนชื่อสาขาวิชา สาขาวิชา ฯ ได้ปรับเปลี่ยนวิชาเอก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ถึง 11 และปรับเปลี่ยนวุฒิการศึกษาให้เป็นสากลโดยหลักสูตรปริญญาตรี วิชาเอกโภชนาการชุมชน จึงถูกเปลี่ยนเป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกอาหารโภชนาการและการประยุกต์ (วท.บ) และหลักสูตรปริญญาตรีวิชาเอก พัฒนาการเด็กและครอบครัวเปลี่ยนเป็น หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกพัฒนาการมนุษย์และครอบครัว (ศศ.บ) สําหรับหลักสูตรมหาบัณฑิต วิชาเอกพัฒนาการครอบครัวและสังคม ได้มีการปรับวุฒิจากคหกรรมศาสตร มหาบัณฑิต เป็น ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต อีกทั้งสาขาวิชา ฯ ได้พัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ทางด้านการจัดการระบบอาหาร เพื่อโภชนาการ เพื่อขยายการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต ด้านอาหาร โภชนาการ และการประยุกต์ในเชิงลึก และแนวประยุกต์สําหรับผู้ที่สนใจ ในวาระครบรอบ 36 ปี ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

     สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์นับเป็นสถาบันการศึกษาหลัก ที่จัดการศึกษาทางไกลเพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และครอบครัว ทั้งในส่วนตนและในหน้าที่การ ทํางาน หลักสูตรที่สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ได้ปรับปรุงและเร่งพัฒนา นับว่าสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ผ่านมา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางของ การพัฒนาเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง องค์ความรู้ และประสบการณ์ จากหลักสูตรต่างๆ ของสาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต และศิลปศาสตรบัณฑิต สามารถนําไปประยุกต์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ระดับ ปัจเจก ครอบครัว และชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม นับเป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างรากฐานของประเทศ ด้านการพัฒนาคน ครอบครัว อาชีพ และสังคม ให้มั่นคง และยั่งยืน อย่างแท้จริง